ผู้เชี่ยวชาญด้านการบินตั้งคำถาม ทำไมมีกำแพงคอนกรีตที่ปลายสุดรันเวย์ และมันเป็นปัจจัยที่ทำให้เหตุเครื่องบิน เจจู แอร์ ตก มีผู้เสียชีวิตจำนวนมากหรือไม่
สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า เจ้าหน้าที่เกาหลีใต้ที่กำลังสืบสวนหาสาเหตุที่ทำให้เครื่องบินโดยสาร เที่ยวบินที่ 7C2216 ของสายการบิน เจจู แอร์ ตกและมีผู้เสียชีวิตถึง 179 ศพ กำลังพิจารณาความสำคัญของกำแพงคอนกรีต ที่อยู่เลยจากปลายสุดของรันเวย์สนามบินมูอันไปประมาณ 250 ม.
ทั้งนี้ เนื่องจากมีคลิปวิดีโอแสดงให้เห็นว่า เครื่องบินโดยสารลำนี้ลงจอดโดยที่ล้อไม่กาง ทำให้เครื่องไถลครูดไปกับพื้น จนหลุดจากปลายสุดของรันเวย์ ก่อนจะไปชนกับกำแพงคอนกรีตดังกล่าว จนระเบิดไฟลุกท่วม
นายเดวิด เลียร์เมาท์ ผู้เชี่ยวชายด้านความปลอดภัยอากาศยาน กล่าวว่า หากสิ่งกีดขวางนี้ไม่อยู่ที่นั่น เครื่องบินอาจหยุดลงได้โดยที่ผู้โดยสารส่วนใหญ่ หรืออาจจะทั้งหมด ยังมีชีวิตอยู่
นายเลียร์เมาท์บอกอีกว่า เครื่องบินลำนี้ลงจอดได้ดีที่สุดเท่าที่การลงจอดแบบไม่ใช้แฟลบ (Flap) หรือปีกสร้างแรงยก และไม่ใช้ระบบล้อจะทำได้แล้ว ระดับปีกกับจมูกเครื่องบินไม่ยกสูงเกินไป เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ส่วนหางเสียหาย และเครื่องบินก็ไม่ได้รับความเสียหายร้ายแรงใดๆ ขณะไถลไปกับรันเวย์
“เหตุผลที่มีผู้เสียชีวิตมากมายขนาดนี้ ไม่ใช่เพราะการลงจอดในลักษณะนั้น แต่ข้อเท็จจริงคือ เป็นเพราะเครื่องบินไปชนกับสิ่งกีดขวางที่มีความแข็งมากที่เลยปลายสุดรันเวย์ต่างหาก” นายเลียร์เมาท์กล่าว
ด้านนาย คริสเตียน เบ็กเคิร์ต นักบินของสายการบินลุฟต์ฮันซา ที่เมืองมิวนิก ระบุว่า การมีกำแพงคอนกรีตที่หลายสุดรันเวย์แบบนั้น เป็นเรื่องไม่ปกติ
สำนักข่าวยอนฮัป ของเกาหลีใต้ รายงานว่า โครงสร้างคอนกรีตดังกล่าว มีระบบนำทางสำหรับในการลงจอดของเครื่องบินที่เรียกว่า “localiser” โดยกำแพงดังกล่าวมีความสูง 4 เมตร ปกคลุมด้วยดิน โดยที่ยกสูงขึ้นมาก็เพื่อรักษาระดับของ localizer กับรันเวย์ เพื่อทำให้แน่ใจว่า ระบบจะทำงานเป็นปกติ
ข่าวระบุก่อนหน้านี้ว่า นักบินแจ้งกับหอบังคับการบินว่า เครื่องบินชนนก ก่อนจะยกเลิกการลงจอดแบบปกติ และขอลงจอดจากทิศทางตรงกันข้ามแทน
ขณะที่กระทรวงคมนาคมเกาหลีใต้ ระบุว่า ที่สนามบินอื่นๆ ในประเทศ กับบางแห่งในต่างประเทศ ก็มีอุปกรณ์ติดตั้งเอาไว้ในโครงสร้างคอนกรีตลักษณะคล้ายกันนี้ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่จะตรวจสอบว่า โครงสร้างดังกล่าวควรสร้างจากวัสดุน้ำหนักเบา ที่สามารถแตกหักได้ง่ายเมื่อเกิดการปะทะหรือไม่
นายคริสต์ คิงส์วูด นักบินผู้มีประสบการณ์ยาวนานถึง 48 ปี และเคยขับเครื่องบิน โบอิ้ง 737-800 รุ่นเดียวกับเครื่องที่ตกมาแล้ว บอกกับ บีบีซี ว่า สิ่งกีดขวางภายในระยะห่างจากรันเวย์ในระดับหนึ่ง จำเป็นต้องแตกหักได้ง่าย เพื่อให้มันแตกเวลาเครื่องบินไปชน
“มันดูไม่ปกติที่มันเป็นของแข็งขนาดนั้น ตามที่ผมเข้าใจ เครื่องบินกำลังเดินทางด้วยความเร็วสูง ลงจอดบนรันเวย์จากระยะไกล ดังนั้นเครื่องจะไถลไปไกลจากปลายสุดของรันเวย์เป็นระยะทางไกลมาก แล้วเราควรจะตีเส้นไว้ตรงไหน? นั่นเป็นสอ่งที่ต้องมีการสืบสวน” นายคิงส์วูดกล่าว และเสริมว่า ต่อให้ไม่มีกำแพง ผลลัพธ์ก็อาจไม่ต่างกันก็ได้
“เครื่องบินไม่ได้เป็นโครงสร้างที่แข็งแกร่ง พวกมันถูกออกแบบมาให้เบา เพื่อให้มีประสิทธิภาพในการบิน พวกมันไม่ได้ถูกออกแบบมาให้เอาท้องไถลไปด้วยความเร็วสูง ดังนั้นโครงสร้างใดๆ ก็สามารถทำให้ตัวเครื่องแตกออกแล้วเกิดหายนะได้”
“เชื้อเพลิงถูกเก็บไว้ที่ปีกดังนั้น เมื่อปีกฉีกขาด ก็มีโอกาสสูงที่จะเกิดไฟไหม้” นายคิงส์วูดกล่าว “ดังนั้นจึงไม่ใช่ว่า ถ้าไม่มีกำแพงอยู่ตรงนั้น ผลลัพธ์จะแตกต่างออกไปอย่างสิ้นเชิง”
ขณะที่ น.ส.แซลลี เกตติน นักวิเคราะห์การบิน ตั้งคำถามว่า นักบินรู้หรือไม่ว่ามีกำแพงดังกล่าว เนื่องจากเครื่องบินลงจอดในทิศทางตรงกันข้ามกับที่ควรจะเป็น เขาได้รับคำสั่งจากหอบังคับการบินให้ลงพยายามจอดรอบ 2 ในทางตรงกันข้ามหรือไม่ ซึ่งเรื่องนี้น่าจะถูกเปิดเผยจากการตรวจสอบกล่องดำ