ในหลวง-พระราชินี เสด็จฯ ไปในพิธีบายศรีทูลพระขวัญ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ถนนพระปกเกล้า จ.เชียงใหม่
วันที่ 26 มกราคม 2568 เวลา 17.52 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีบายศรีทูลพระขวัญ เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ณ บริเวณลานพระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ถนนพระปกเกล้า อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ โดยมี นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ ประธานสายสกุล ณ เชียงใหม่ คณะกรรมการมูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ ข้าราชการ และประชาชน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จ
การนี้ทรงวางพุ่มดอกไม้ ทรงวางพวงมาลัย ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยถวายราชสักการะ พระบรมราชานุสาวรีย์สามกษัตริย์ ทรงกราบ เสร็จแล้ว เสด็จเข้าพลับพลาพิธี พระราชทานพระบรมราชวโรกาสให้ พลอากาศตรี เจ้าวัฒนันท์ ณ ลำพูน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตรแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และเจ้าแสงตะวัน ณ เชียงใหม่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสูจิบัตรแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี จากนั้น ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กราบบังคมทูลรายงานความเป็นมาของพิธีบายศรีทูลพระขวัญ พร้อมทั้งขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตประกอบพิธีบายศรีทูลพระขวัญ
ต่อจากนั้น ทอดพระเนตรริ้วขบวนฟ้อนเชิญบายศรีทูลพระขวัญพร้อมเครื่องราชสักการะ และพุ่มดอกไม้ของเจ้านายฝ่ายเหนือ ประกอบด้วย กังสดาล วงกลองชุม ขบวนตุงช่อ ฟ้อนเจ้านายฝ่ายเหนือ ฝ่ายชายและฝ่ายหญิง นำหน้าพานพระขวัญและบายศรีต้นแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ขบวนหัวหมู เครื่องคาว เครื่องหวาน ขบวนเครื่องสักการะล้านนา และขบวนพานพุ่มดอกไม้ 5 สกุล ได้แก่ ณ เชียงใหม่ ณ ลำพูน ณ ลำปาง ณ น่าน และ ณ เชียงตุง
เมื่อผู้เชิญบายศรีทูลพระขวัญพร้อมเครื่องราชสักการะและพุ่มดอกไม้ ฯ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวาย ณ โต๊ะบริเวณมุขพลับพลาพิธีแล้ว เจ้าศรีรัตน์ ณ ลำปาง ร่ายนำคำทูลพระขวัญ ซึ่งเป็นทำนองของเจ้านายฝ่ายเหนือ ที่เคยปฏิบัติถวายมาแต่ในอดีต นายสนั่น ธรรมธิ สำนักศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ขับลำนำทูลเชิญพระขวัญ เจ้าวงศ์สักก์ ณ เชียงใหม่ ประมุขสายสกุล ณ เชียงใหม่ เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ผูกข้อพระหัตถ์ขวาและซ้ายแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายเงิน โดยเสด็จพระราชกุศลตามพระราชอัธยาศัย กับทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือ “เจ้าหลวงเชียงใหม่” เจ้าวรเทวี ณ ลำพูน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ผูกข้อพระหัตถ์ขวาและซ้ายแด่สมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี และทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายหนังสือ “เจ้าหลวงลำพูน” เจ้าธวัชวงศ์ ณ เชียงใหม่ และเจ้าประภารัตน์ ณ ลำพูน เฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายของที่ระลึกแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี
จากนั้น ทอดพระเนตรการแสดงชุด “เฉลิมรัชทศราชา บรมราชจักรีวงศ์” ประกอบด้วย ชุดที่ 1 ปฐมพงศ์วงศ์พิงคนคร ชุดที่ 2 สานสัมพันธไมตรีทิพย์จักรจักรีวงศ์ ชุดที่ 3 สายใยรักสองแผ่นดิน และชุดที่ 4 ร่มฟ้าบารมี ทศมราชา บรมราชจักรีวงศ์ สมควรแก่เวลา จึงประทับรถยนต์พระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินไปยังท่าอากาศยานทหาร กองบิน 41 อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ เพื่อประทับเครื่องบินพระที่นั่ง เสด็จพระราชดำเนินกลับกรุงเทพมหานคร
ในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินในครั้งนี้ มีราษฎรจำนวนมาก ต่างพร้อมใจกันสวมเสื้อสีเหลือง
มาเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาทรับเสด็จและส่งเสด็จ เพื่อชื่นชมพระบารมีด้วยความจงรักภักดี และระหว่างเส้นทางเสด็จพระราชดำเนินผ่านมีราษฎรแต่งกายด้วยชุดพื้นเมือง พร้อมใจกันฟ้อนเทียน และฟ้อนเล็บด้วยท่วงท่าการฟ้อนที่มีความอ่อนช้อยและงดงาม ซึ่งเป็นวัฒนธรรมและประเพณีโบราณของชาวล้านนา เพื่อถวายพระเกียรติและถวายการต้อนรับ
พิธีบายศรีทูลพระขวัญเป็นประเพณีและวัฒนธรรมพื้นเมืองของเจ้านายฝ่ายเหนือที่ปฏิบัติสืบทอดมาแต่โบราณ ตั้งแต่เมื่อครั้งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณี พระบรมราชินีในรัชกาลที่ 7 เสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎร ณ มณฑลพายัพ เมื่อปี 2567 และต่อมาได้มีการจัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญขึ้นอีก 2 วาระ ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 5 มีนาคม 2501 และในโอกาสที่เสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีสมโภชเชียงใหม่ 700 ปี เนื่องในโอกาสมหามงคลสมัยที่พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงครองสิริราชสมบัติครบ 50 ปี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2539
ทั้งนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งทรงดำรงพระราชอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ทรงเคยเสด็จพระราชดำเนินไปในพิธีบายศรีทูลพระขวัญ เนื่องในโอกาสที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนนายร้อยดันทรูน ณ สนามกีฬาคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 24 มกราคม 2519 และในโอกาสเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเปิดอนุสาวรีย์พระนางจามเทวี ณ สวนสาธารณะหนองดอก อำเภอเมืองลำพูน จังหวัดลำพูน เมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 2525
พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงให้ความสำคัญและทรงตั้งพระราชปณิธานที่จะสืบสานประเพณีและวัฒนธรรมอันดีที่มีมาแต่โบราณ และเนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 นับเป็นโอกาสมหามงคลอันดียิ่ง ที่มูลนิธินวราชดำริอนุรักษ์ฝ่ายเหนือ ร่วมกับเจ้านายฝ่ายเหนือและจังหวัดเชียงใหม่ จัดพิธีบายศรีทูลพระขวัญแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ซึ่งเป็นการจัดพิธีนี้ขึ้นเป็นครั้งแรกในรัชกาล เพื่อความเป็นสิริมงคล แสดงออกถึงความจงรักภักดี และสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อพสกนิกรชาวจังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดต่าง ๆ ในภาคเหนือ ซึ่งโดยที่ผ่านมาพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้า ฯ พระบรมราชินี ทรงห่วงใยและเสด็จพระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมราษฎรและทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจในพื้นที่ภาคเหนือมาโดยตลอด.